หน้าเว็บ

ถ้ำพระเขาโต๊ะบุญ พัทลุง



ถ้ำพระเขาโต๊บุญ เป็นสถานที่เก่าแก่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ตั้งอยู่ที่บ้านเขาโต๊ะบุญ ในเขต ม.4 ต.แพรกหา อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีความเชื่อมโยงของขนบธรรมเนียม และศาสนา ร่วมสมัยเดียวกันกับสมัยศรีวิชัย ที่เคยมีศูนย์กลางในนครศรีธรรมราช และแผ่ขยายทั่วไปในเขตภาคใต้ด้ามขวานทองมาอย่างยาวนาน 

ถ้ำพระฯ เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านแถบนี้ เป็นสถานที่ศักสิทธิ์ และเป็นที่เคารพ บูชา มาช้านาน ลูกหลานคนแถบนี้ ก่อนจะคิดทำอะไร หรือ จะเดินทางไปต่างถิ่นที่ไหน ต้องยกมือพนมท่วมหัว ขอให้พระในถ้ำช่วยคุ้มครองเกิดโชค ให้แคล้วคลาดจากภัยทั้งปวง เมื่อประสบกับความโชคดี หรือแคล้วคลาดตามปรารถนาแล้ว แน่นอนการมาทดแทนคุณด้วยของสักการะก็ย่อมเกิดขึ้นจากจิตใจที่ต้องการตอบแทนที่ท่านช่วยคุ้มครอง

การบนบานที่นี่ไม่นิยมที่จะถวายสิ่งของอันมีค่า แต่จะใช้สัญลักษณ์ที่เป็นเสียงดังเป็นหล้ัก คือเสียงประทัดในการแก้บน แล้วแต่จะมากน้อยสักเพียงไหน ก็ตามศรัทธา แต่บางคนแก้บนด้วยการวิ่ง หรือการเดิน รอบเขาโต๊ะบุญ แห่งนี้ ซึ่งที่เป็นทีี่ตั้งขององค์พระ แล้วแต่จำนวนรอบที่ได้ให้คำมั่นกันไว้

การขึ้นไปนมัสการองค์พระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่บนภูเขา ต้องเดินขึ้นบันได ที่ค่อนข้างชัน แต่บอกได้ว่า ไม่เหนื่อยมาก เพราะบันไดไม่ได้สูงมาก สมัยก่อน ผู้คนแถบนี้ต้องเดินขึ้นไปด้วยความลำบาก ลัดเลาะไปตามแนวก้อนหินที่มีอยู่มากมาย เพราะเป็นภูเขาหินปูน และมีความชัน แต่นั่นไม่ได้เป็นอุปสรรคมากนัก เพราะความศรัทธา และเป็นที่นับถือของผู้คน ทำให้ความเหนื่อยเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่านั้น แต่ด้วยความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านและผู้คนทั่วไป ร่วมสมทบทุนกันสร้างบันไดคอนกรีตขึ้นมา ทำให้ปัจจุบันการขึ้นลงสะดวกมากยิ่งขึ้น

แต่ที่เป็นคึกคักมากของทุกปีั ไม่ว่าลูกหลานชาวเขาโต๊ะบุญจะแยกย้าย ไปตั้งรกรากกันยังสถานที่แห่งใด ก็จะย้อนกลับมากเคารพ สักการะพระพุทธรูปบนถ้ำแห่งนี้ เป็นประจำ ในวันที่ 15 เมษายน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่า เป็นวันที่ต้องมาพบกัน กับญาติพี่น้อง และเพื่อนบ้าน ที่เคยอยู่ร่วมอาศัย หรือเคยรู้จักกันมา ชาวบ้านที่นี่เรียกว่า "วันว่างหน้าถ้ำ" (คำว่า "ว่าง" คือ การทำให้ปราศจากกิจอย่างอื่น มาร่วมพบปะกันตามประเพณีในวันสงกรานต์) สถานที่ที่มาพบกัน คือบริเวณหน้าถ้ำแห่งนี้


ความปิติของผู้เฒ่าผู้แก่
ซึ่งมีทั้งพิธีทางศาสนา และกิจทางประเพณีวัฒนธรรมคือ การรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ของชุมชน หรือผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยในชุมชน หรือเป็นที่เคารพของลูกหลานชาวเขาโต๊ะบุญทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นญาติพี่น้องของใคร แต่ผู้คนที่มาที่นี่ต่างตื้นตันใจ ที่ได้ทำความเคารพผู้เฒ่าทั้งหลายด้วยความอิ่มเอมใจ และมีความสุขเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้ยินคำให้พรจากคนที่เคารพนับถือ นี่เป็นมงคลของชีวิต ที่ใคร ๆ ก็รอคอยอยากสัมผัสมาเป็นเวลานาน เพราะในปีหนึ่งจะมีสักกี่ครั้งที่ลูกหลานจะได้มารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ต่อหน้าผู้มีพระคุณที่เป็นที่เคารพยิ่งอย่างนี้ 

ลูกหลานชาวเขาโต๊ะบุญ และจากที่อื่น ๆ ร่วมรดน้ำผู้ใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น