‘กูเกิลไซต์ไกสต์’ คำฮิตวัดปรอทอารมณ์สังคมไทย
เกิดอาการอยากรู้ตงิดๆ ว่าเนื้อเพลงนี้ของนักร้องคนเกือบโปรด มันร้องว่าอะไร พอไปถามเพื่อน เพื่อนมันก็บอกให้ไปถาม 'กูเกิล' (Google) คิดได้ดังนั้นก็จัดการเสิร์ชข้อมูลตามคำแนะนำของเพื่อนเสียเลย วันรุ่งขึ้นอยากรู้เรื่องดาราคนนั้นที่เป็นกิ๊กใหม่ของดาราคนนี้ ใช้กูเกิลหาดูสิว่าตกลงเรื่องราวมันเป็นยังไง วันต่อมาอาจารย์ให้หาข้อมูลเรื่องวงการหนังบอลลีวูด หาในห้องสมุดคงจะยาก ลองกูเกิลดูซะหน่อย...ออกมาเป็นพรืด
กูเกิลกับคนไทย เห็นจะเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ออกเสียแล้ว
การสร้างคำค้นเพื่อค้นหาสิ่งต่างๆ ในโลกอินเทอร์เน็ตของคนทั่วโลกโดยผ่านเสิร์ชเอนจินตัวแม่อย่างกูเกิล ใครๆ ก็คิดว่าค้นแล้วผ่านไป ไหนเลยจะรู้ว่าเขาได้เก็บสถิติไว้หมดแล้ว เรียกว่า 'ไซต์ไกสต์' (zeit-geist อ่านว่า ไซต์-ไกสต์ เป็นคำนาม มีรากศัพท์มาจากภาษาเยอรมัน จากคำว่า Zeit (เวลา) + Geist (จิตวิญญาณ) และแปลความหมายได้ว่า ภูมิปัญญาทั่วไป ศีลธรรม และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย) หรือที่กูเกิลเรียกแบบสวยหรูว่า 'จิตวิญญาณของกาลเวลา' และปล่อยออกมาให้คนได้ตื่นเต้นตื่นตากันเป็นแถวเมื่อรู้ว่าคำค้นยอดฮิตติดชาร์ตประจำปี 2553 นั้นมันคือคำว่าอะไรบ้าง
สำหรับในไทย เรื่องน่าแปลกใจอะเมซิ่งเกิดขึ้นจนได้ เมื่อคำค้นหาว่า 'เพลงลูกเทวดา' เพลงลูกทุ่งของ สนุ้ก สิงห์มาตร กลายเป็นคำค้นอันดับหนึ่งของเมืองไทย ชนะแซงหน้า 'ipad', 'iphone4' และ 'the star 6' ในอันดับ 2, 3และ 4 ไปได้แบบเหนือความคาดหมาย (ที่เหลือคือ เหงาปาก, facebook, ตารางบอล, ยูทิวบ์, photoscape และ รามคำแหง ตามลำดับ)
กูเกิล 10 อันดับนี้ บอกอะไรต่อสังคมไทย
กูเกิลวันนี้กลายเป็นปัจจัยที่ขาดไม่ได้แล้วหรือยัง? บันเทิงเริงรมย์แม้ในยามยาก
ในสายตาของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ บรรณาธิการนิตยสาร DL เขามีมุมมองต่อสถิติในปีนี้ว่า ตนเองมองไม่เห็นรูปแบบที่เป็นเอกภาพจึงอธิบายได้ยาก แต่เขาเชื่อว่ามันเป็นการสะท้อนบางสิ่งในสังคมแน่นอน เนื่องจากกูเกิลเป็นมาตรวัดที่ค่อนข้างชัดเจน เพราะมีปริมาณกลุ่มตัวอย่างที่กว้าง ทั้งยังมีความถี่และจุดประสงค์ในการใช้ที่หลากหลาย
“ผมว่ามันคงสะท้อนอะไรบางอย่างนะ แต่ปีนี้ดูรูปแบบไม่ค่อยออก แอปเปิลมันก็เป็นของตายอยู่แล้ว เพราะคนที่ใช้ของพวกนี้ก็ต้องใช้อินเทอร์เน็ต ใช้กูเกิลอยู่แล้ว แต่เสิร์ชเอนจินตัวนี้มันจะอยู่ควบคู่กับการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมประจำวันของเรา เราทำงาน เรียน เที่ยว เราก็ใช้กูเกิล”
ส่วนข้อสังเกตที่ว่า คำค้น 5 อันดับแรกเกี่ยวข้องกับเรื่องบันเทิงและสินค้า วุฒิชัยมองว่าเป็นเรื่องปกติของยุคทุนนิยม/บริโภคนิยม ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่เป็นกระแสของยุคสมัยที่ความสนใจของผู้คนจะมุ่งไปที่ความสนุกสนาน ความสำเร็จ ความสวยงาม
ส่วนเพลง ‘ลูกเทวดา’ มายังไง ผู้เชี่ยวชาญโลกอินเทอร์เน็ตอย่างวุฒิชัย ก็ยังสงสัยอยู่เหมือนกัน
“คำบางคำที่เราไม่รู้จัก ไม่ได้หมายความว่าไม่สมควรอยู่ในกูเกิลไซต์ไกสต์ เพราะคนอื่นอาจจะชอบก็ได้”
ข้อสันนิษฐานหนึ่งที่อาจเป็นได้คือ จำนวนผู้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น ส่งผลให้คำค้นมีความหลากหลายกว่าเดิม
วัยโจ๋อย่าง กฤตยา เชื่อมวราศาสตร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอมีข้อสังเกตถึงเพลง ‘ลูกเทวดา’ ว่า ไม่แปลกใจเท่าไหร่ที่เพลงนี้จะถูกค้นหาในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างล้นหลามจนขึ้นอันดับหนึ่ง
“มันคงเป็นเพลงที่หาฟังยากแต่คนล้วนเคยได้ยินชื่อ คนที่สนใจก็เลยลองเสิร์ชหาดูตามกูเกิล แล้วเอ็มวีมันก็ตลกดี เนื้อเพลงมันก็ตรงกับพวก 'เด็กต่างจังหวัดที่เรียนในกรุงเทพฯ' ออกแนวจิกกัดนิดๆ หน่อยๆ แต่ตามต่างจังหวัดแถวบ้านเราเนี่ยเป็นเพลงที่ดังในระดับชาวบ้านเลยนะคะ กลับบ้านก็ได้ยินเพลงนี้แล้ว”
กูเกิล ความคุ้นเคยที่เปลี่ยนยาก
เมื่อเกิดกูเกิลไซต์ไกสต์ขึ้นมา แสดงว่ากูเกิลก็ต้องมีความมั่นใจระดับหนึ่งแน่นอนว่าตัวเองเป็นเจ้าของสถิติที่สนองตอบความอยากรู้อยากเห็นของคนทั่วโลก แต่ว่ากูเกิลสามารถดันตัวเองจนขึ้นมาถึงขั้นนั้นได้จริงหรือ?
เรื่องนี้เป็นไปได้แน่นอน
ผศ.ดร.ม.ล.วิฏราธร จิรประวัติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการโฆษณา คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ชี้ว่า กูเกิลเปรียบเป็นปรอทวัดอุณหภูมิสังคม แทบจะเรียกว่าเป็นงานวิจัยเชิงปริมาณรูปแบบหนึ่งก็ย่อมได้
“กูเกิลสามารถบอกเราได้ว่า ตอนนี้คนให้ความสำคัญอยู่กับอะไร มันเป็นเหมือนปรอทวัดความฮิต ความนิยม ความซีเรียส ความเป็นไปของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ คือถ้าเป็นของแต่ละประเทศ มันก็ไม่ได้ส่งผลสะท้อนแค่คนในประเทศ แต่มันอาจจะส่งผลต่อโลกทั้งโลกก็ได้ ยิ่งถ้าเอาข้อมูลของแต่ละประเทศมารวมกันหมดมันก็จะตอบเป็นสถิติระดับโลกเลย”
แน่นอนว่าไม่มีทางที่จู่ๆ กูเกิลจะกลายเป็นสุดยอดเสิร์ชเอนจินขึ้นมาได้ด้วยตัวมันเองจนสร้างไซต์ไกสต์วิเคราะห์ผลสะท้อนต่อสังคมออกมาได้ 10 อันดับ คนใช้ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน แต่
ทำไมคนจึงนิยมกูเกิลกันมากมายขนาดนั้น
ผศ.ดร.ม.ล.วิฏราธร ยกตัวอย่างจากตัวเธอเองว่า เมื่อใช้กูเกิลค้นหาทุกอย่างเจอแล้ว ก็ไม่มีความจำเป็นต้องไปแสวงหาเสิร์ชเอนจินตัวอื่นมาใช้อีก
“อยากหาข้อมูลอะไรก็เจอทุกที ถ้ามันตอบสนองความต้องการเราได้ดี เกิดความพึงพอใจแล้ว เราก็ไม่มีทางเปลี่ยนไปใช้ตัวอื่นหรอก อีกอย่างมันคงเป็นความคุ้นเคยด้วยส่วนหนึ่ง บางคนถึงกับขึ้นเป็นหน้าแรก (โฮมเพจ) เลย เพราะวันๆ เสิร์ชบ่อย”
ยอดฮิตกับทิศทางการตลาด
คนค้นหาเยอะ อยากรู้เรื่องนั้นๆ เยอะ มีหรือจะรอดสายตาของนักการตลาดได้ เพราะช่องทางวัดความฮิตก็มาจ่ออยู่ตรงหน้าแล้ว แต่เมื่อไปสอบถามดูปรากฏว่ากว่าจะเอาข้อมูลมาใช้ได้มันต้องผ่านขั้นตอนมาพอสมควร แค่ความฮิตอย่างเดียวไม่ช่วยอะไร
ฐนรรภรณ์ วุฒิไกรรัตน์ แมเนจจิ้ง ไดเรกเตอร์ หรือผู้อำนวยการด้านการตลาดของบริษัท ทีพีอาร์ซี ซึ่งเป็นมืออาชีพในด้านการวิจัยตลาดสำรวจความคิดเห็นทางการตลาด ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า
“คำค้นในกูเกิลนั้น เวลาที่เราดูเราจะดูทุกกลุ่ม เป็นการเก็บข้อมูลโดยรวม แต่การนำไปใช้นั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังจะเจาะจงทำเรื่องอะไร ซึ่งตรงนี้มันก็มาจากลูกค้าด้วย ว่าเขาอยากโฟกัสตรงไหน ทั้งนี้เพื่อเป็นการวางกลยุทธ์ต่อไป
“ถ้ามันสัมพันธ์กับสิ่งที่เราสนใจอยู่มันก็ใช้ได้ แต่ถ้ามันไม่สัมพันธ์กันมันก็ไม่เกิดประโยชน์ ถ้าเรากำลังวิจัยตลาดเกี่ยวกับเรื่องของงานบันเทิง การที่เรารู้ว่า คำว่าเพลง ‘ลูกเทวดา’ เป็นคำค้นยอดฮิตอันดับหนึ่ง เราก็สามารถนำมาเป็นปัจจัยประกอบได้ แต่ทั้งนี้เราก็ต้องดูกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่”
แต่ทั้งนี้ ฐนรรภรณ์ ก็ได้แสดงความเห็นต่อไปว่าสถิติเหล่านี้ไม่อาจจะนำมาใช้แบบเดี่ยวๆ ได้ เพราะตัวข้อมูลที่มีอยู่นั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องที่เชื่อถือได้ทั้งหมด
“จริงๆ แล้วสถิติคำค้นเหล่านี้เราเชื่อมั่นไม่ได้ทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก เพราะมันจะมีการปั่นกระแสอยู่ และเมื่อมันมีการปั่นในระดับหนึ่ง ก็จะมีการบอกต่อกันในกลุ่มที่รสนิยมเหมือนๆ กัน มันเอามาใช้ประกอบได้เพียงเท่านั้น ในการวิจัยตลาดถ้าเราอยากจะรู้จริงๆ ก็ต้องมีการลงพื้นที่ หาข้อมูลจากกลุ่มเป้าหมายโดยตรง”
เช่นเดียวกับที่ ผศ.ดร.ม.ล.วิฏราธร กล่าวไว้ว่า
“คนเราจะทำกูเกิลเพื่อให้ใส่ข้อมูลของทุกสิ่งฟรีๆ โดยไม่มีการหากำไรอะไรเลยมันก็ไม่ใช่ เพราะเขาต้องมีเงินตรงนี้เอาไว้เพื่อต่อทุน”
ทั้งตัวคำค้นเอง หรืออันดับยอดฮิต 10 อันดับเองก็ดี ประชาชนอย่างเราก็ควรจะต้องใช้วิจารณญาณในการรับสารอยู่เหมือนกัน
“หากเปรียบก็เหมือนคน คนพูดเรื่องหนึ่งก็โกหก คนพูดอีกเรื่องก็จริง เพราะฉะนั้นสื่อทุกสื่อมันก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด กูเกิลก็เป็นหนึ่งในนั้น มีดีมีเสีย มีถูกมีให้ข้อมูลมั่วๆ ซั่วๆ เสิร์ชอะไรมาก็เจอ ใครเติมอะไรก็ได้ มันก็อยู่ที่ว่าเราจะเลือกมองด้านไหน...”
...........................................
ที่มา
โดย ASTV ผู้จัดการรายวัน20 ธันวาคม 2553 19:06 น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น